Ads 468x60px

ท่าอุเทนเมืองธรรมมะ พระธาตุสูงงาม แม่น้ำสองสี ไดโนเสาร์ล้านปี ประเพณีไทญ้อ

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

ประวัติหลวงปูสีทัตถ์ (lp-seetud)


ในประวัติเมืองท่าอุเทน ซึ่งเขียนโดย นายเมธี ดวงสงค์ ได้เขียนถึงประวัติของหลวงปู่สีทัตถ์พระอาจารย์ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทนเอาไว้ว่า หลวงปู่สีทัตถ์ท่านบวชถึง ๓ ครั้ง และได้ลาสึกถึง ๒ ครั้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องลาสิกขาบทออกไป แล้วเข้ามาบวชอีกว่า เป็นเพราะมีเรื่องทางโลกเข้ามารบกวนความสงบของท่านกล่าวคือ มีเหตุอันเป็นกระแสแห่งโลกทำให้ท่านต้องสึกไปแต่งงานซ้ำแล้วซ้ำอีก ชาวบ้านที่เคารพนับถือท่านบางคนก็กล่าวว่า สาเหตุที่หลวงปู่สีทัตถ์ท่านลาสิกขาไปนั้น คงเนื่องมาจากมี พระบาง อยู่ในวัด แต่มูลเหตุดังกล่าวนี้ก็เป็นความเข้าใจของคนบางคนเท่านั้นจะมีความจริงเท็จแค่ไหนเพียงไรก็ยากที่จะนำมาพิสูจน์กัน


พระบางนี้ได้มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีการสร้างขึ้นในประเทศลาว โดยคณะกรรมการ ๒ ฝ่ายเป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้นคือฝ่ายสงฆ์มี สมเด็จเหมมะวันนา เป็นประธาน ส่วนฝ่ายฆราวาส มีพญาแมงวัน(มีรูปแมลงวันติดอยู่ที่หน้าผาก) ผู้เป็นเจ้าเมืองเหิบ ประเทศลาวเป็นประธาน ในครั้งนั้นได้หล่อพระที่มีขนาดเท่ากันขึ้น ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระขัดสมาธิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนติ้ว เมืองหินปูน ประเทศลาว) องค์ที่สองนั้นเป็นพระยืนปางห้ามสมุทร คือพระบาง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม 


หลังจากได้อัญเชิญพระบางจากประเทศลาวมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทนได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายไปประดิษฐานยังวัดไตรภูมิ ส่วนสาเหตุที่ต้องย้ายที่ประดิษฐานพระบางจากวัดพระธาตุท่าอุเทนไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมินั้นก็สืบเนื่องมาจาก หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านต้องลาสึกถึง ๒ ครั้งนั่นเอง ทั้งนี้เพราะเป็นความเชื่อถือของชาวบ้านว่า พระบางเป็นพระที่ไม่ให้คุณ มีอาถรรพณ์ทำให้หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีผู้เคารพนับถือมากในลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงฝั่งลาวต้องลาสึก


ซึ่งเรื่องราวมีว่า หลังจากหลวงปู่สีทัตถ์ท่านเข้ามาบวชเป็นครั้งที่สองนั้น ท่านมักจะออกแสวงหาความวิเวกตามสถานที่สงบต่างๆอยู่เสมอ และการอุปสมบทครั้งที่สองของท่านนั้น ท่านอุปสมบทหลังจากที่พระบางได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทนแล้ว คือหลังปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ส่วนสาเหตุที่ท่านต้องสึกอีกครั้งนั้น มีเรื่องเล่าว่า ท่านพร้อมกับลูกศิษย์องค์หนึ่งได้ถือธุดงคกรรมฐานไปที่ฝั่งลาว วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งกรรมฐานอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงร้องรำของหญิงสาวชาวบ้านมีความไพเราะจับใจมาก ถึงขนาดตัดสินใจลาสิกขาบทในคืนวันนั้นทันที หลวงปู่ท่านได้ลาสิกขาเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ไปสู่ขอหญิงสาวชาวบ้านผู้ที่ร้องรำคนนั้นกับบิตามารดาทันที ซึ่งบิดามารดาของหญิงสาวก็ไม่ขัดข้องเพราะมีความเคารพนับถือท่านมากอยู่แล้ว การลาสิกขาบทของท่านสร้างความประหลาดแก่ผู้พบเห็นในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะจู่ ๆ พระผู้ทรงศีลาจารวัตรอันงดงาม ต้องมาพ่ายแพ้กิเลสอันเป็นตัวมารอย่างง่าย ๆ เช่นนั้นจึงทำให้ชาวบ้านคิดไปว่าคงเป็นเพราะพระบางที่อยู่ในวัดมีอาถรรพณ์จึงบันดาลให้ท่านเป็นไป ต่างลงความเห็นกันว่าไม่สมควรเอาไว้ จึงได้พากันย้ายพระบางออกจากวัดพระธาตุท่าอุเทน ไปอยู่วัดไตรภูมิตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านเป็นพระที่มีบุญญาบารมีสูงยิ่งจริง ๆ และท่านมีอภินิหารแก่กล้ามาก ท่านสามารถก่อสร้างพระธาตุต่าง ๆ สำเร็จมาแล้วหลายแห่ง เช่น 

๑. พระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
 ๒. พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 
๓. มณฑปโพนสัน ประเทศลาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพระธาตุท่าอุเทน นั้น หลวงปู่สีทัตถ์ท่านมีความสามารถสร้างเหมือนพระธาตุพนมสมัยก่อนได้ทั้งๆ ที่ฐานรองรับก็เพียงขุดหลุมแล้วใส่หินนางเรียง หรือหินแก้วนางฝาน เป็นฐานรองรับพระธาตุซึ่งยังไม่ทรุดแต่ประการใด


และมีอายุยาวนานมากว่า ๗๐ ปีแล้ว นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มิใช่น้อยที่คนในสมัยนี้คงไม่มีบารมีก่อสร้างได้เช่นท่าน เพราะการนำเอาหินแก้วนางฝานมารองรับองค์พระธาตุได้นี้ นับว่าเป็นอภินิหารอันแก่กล้าของท่านเหนือโลกจริง ๆ


ในระหว่างที่หลวงปู่สีทัตถ์ทำการก่อสร้างองค์พระธาตุท่าอุเทนนั้น (ในราว พ.ศ. ๒๔๕๖) ได้มีพระครูสมุห์วรคณิสรสิทธิการ ซึ่งทางฝ่ายคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนหัวหน้าสงฆ์ มาตรวจการทางภาคอีสาน ครั้นมาถึงจังหวัดหนองคายได้ข่าวว่าหลวงปู่สีทัตถ์ เป็นผู้มีอิทธิพลมาก และแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เช่น ล่องหนหายตัว ย่อแผ่นเดินให้แคบเข้า และ ข้ามแม่น้ำโขงได้โดยไม่ต้องใช้เรือ มีผู้คนเลื่อมใสมากและได้ซ่องสุมผู้คนเพื่อจะกบฏต่อกรุงเทพฯ


พระคูรสมุห์วรฯ จึงคิดจะมาจับเอาตัวท่านหลวงปู่ลงไปกรุงเทพฯ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นข่าวลือที่เกิดขึ้น เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยน รักความสงบ และถ่อมตนอยู่เสมอเป็นผู้ตั้งอยู่ในสุจริตปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย จึงทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก หลวงปู่ท่านไม่ได้แสดงปาฏิหาริย์ ท่านตั้งใจสร้างพระธาตุเจดีย์โดยบริสุทธิ์ใจ แต่ก็มีผู้ไม่หวังดีใส่ร้ายท่าน ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวมารโดยแท้


พระครูสมุห์วรฯ เมื่อโดยสารเรือล่องลงมาจากจังหวัดหนองคายมาถึงท่าอุเทนแล้ว ก็จอดหรือตรงท่าวัดกลาง ซึ่งขณะนั้นมีหาดทรายติดกับตลิ่งฝั่งท่าอุเทนยื่นไกลออกไปสู่กลางแม่น้ำโขงประมาณ ๑๐ เส้น และเมื่อพระครูสมุห์วรฯ มาถึงก็มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนออกมาให้การต้อนรับพอสมควร ท่านได้ขึ้นไปวัดอรัญญวาสี เพื่อจะจับเอาหลวงปู่สีทัตถ์ แต่ก็ไปไม่ถึงวัด ไปถึงแค่หน้าที่ว่าการอำเภอก็แวะเข้าไปพักอยู่ที่นั่น เมื่อมีผู้ไปถามท่านว่า “ทำไมไม่ไปให้ถึงวัด” ท่านก็ตอบว่า “กลัวพระสีทัตถ์จะสั่งให้ลูกน้องทำอันตราย”


พระคูรองค์นั้นได้โทรเลขให้ พระพนมนราฯรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าฯ นครพนมในสมัยนั้น ให้ขึ้นมาจับเอาตัวหลวงปู่สีทัตถ์เอง แต่กลับได้รับคำตอบกลับไปว่า “ท่านอาจารย์สีทัตถ์มิได้คิดกบฏซ่องสุมผู้คนอะไรเลย หากแต่ท่านสร้างพระธาตุเจดีย์และมีผู้คนมาจากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เดียงเดินทางมาช่วยท่าน โดยหวังผลในส่วนกุศลเท่านั้น มิได้คิดเป็นอย่างอื่นดังที่พระคุณเจ้าเข้าใจ และตัวท่านพระอาจารย์สีทัตถ์เองก็อยู่ในศีลธรรมอันดี รักความสงบไม่มีจิตคิดอิจฉาและชิงดีคนอื่น” เมื่อพระครูสมุห์วรฯ ทราบความจริงเช่นนั้น จึงเดินทางต่อไปยังเมืองนครพนม เหตุการณ์ก็เป็นอันสงบไป 


ส่วนทางฝ่ายวัดอรัญญวาสี เมื่อทราบข่าวว่ามีพระภิกษุมาจากกรุงเทพฯ จะมาจับเอาตัวหลวงปู่ซึ่งท่านก็ไม่ได้สะทกสะท้านแต่อย่างใด ท่านยังสั่งให้พระลูกศิษย์เตรียมปูอาสนะให้ด้วย และท่านก็ยังคงทำงานก่อสร้างพระธาตุของท่านไปเรื่อย ๆ ต่อมาได้มี พระอาจารย์ปาน ซึ่งมาจากบ้านใหม่ ดอนสังคี อำเภอโพนพิสัย กับ พระอาจารย์ยอดแก้ว และ พระอาจารย์ปิ่น ได้มาขอสู้แทนหลวงปู่ซึ่งท่านก็กล่าวว่า “พระคูรสมุห์ฯ ไม่มาดอก อย่าวุ่นวายไปเลย” และก็ไม่มาจริง ๆ


เรื่องอภินิหารที่เกิดจากบุญญาบารมีของผู้สร้าง คือหลวงปู่สีทัตถ์นี้ได้มีผู้กล่าวกันว่า ได้แสดงอภินิหารด้วยการเรียกปลาร้ามาเลี้ยงคนงานที่มาก่อสร้างองค์พระธาตุอย่างอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า ในการสร้างพระธาตุท่าอุเทนนั้น อาหารหลักที่จะนำมาเลี้ยงคนทั่วไปก็คือ ปลาแดก (ปลาร้า) กับผักสด และปลาแห้ง หลวงปู่สีทัตถ์ท่านได้ตั้งโรงครัวเพื่อให้คนงานที่ออกแรงปั้นอิฐ (ดินจี่) เผาอิฐ ได้รับประทานกัน ซึ่งมีจำนวนเป็นร้อย ๆ (รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย) 


เย็นวันหนึ่ง หลวงปู่ได้เดินตรวจดูความเรียบร้อยของงานที่ผ่านไปวันหนึ่ง ๆ และท่านได้มายืนคุยกับญาติโยมที่กำลังพากันรับประทานอาหารเย็นอยู่ พวกแม่ครัวจึงพากันนมัสการท่านว่า “วันนี้ปลาร้าหมดไหแล้วพรุ่งนี้จะไม่มีปลาร้าประกอบอาหารอีก” หลวงปู่ท่านได้ยินแล้วก็ไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้ม ๆ และหัวเราะหึ ๆ ในลำคอเท่านั้น และท่านได้เดินมาดูไหปลาร้าที่ว่างเปล่ากว่า ๑๐ ไห แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวล หรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้พวกแม่ครัวพากันห่วงยิ่งขึ้นและคิดไปว่า “เอ... หลวงปู่เรานี่ จะเอาอย่างไรนะ ปลาร้าหมดไห บอกให้รู้ก็ทำเป็นเฉย ๆ อยู่ จะเอาอย่างไรก็ดี จะให้ทำอย่างไรก็ไม่บอก” ก่อนที่หลวงปู่ท่านจะเดินจากไป ท่านก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “กินข้าวกินปลากันไปเถอะแล้วจะมีคนเอามาให้” คำพูดของหลวงปู่ครั้งนั้นทำให้พวกแม่ครัวพากันฉงนอยู่มิใช่น้อย จากนั้นต่างก็ช่วยกันเก็บล้างถ้วยชามทำความสะอาด แล้วปิดประตูโรงครัวเพื่อกันไม่ให้สุนัขหรือแมวเข้าไปรบกวนแล้วก็พากันเข้าไปนอน


พอวันรุ่งขึ้นพวกแม่ครัวก็พากันมาติดไฟนึ่งข้าวเหนียวเพื่อเตรียมไว้ให้พวกที่สร้างพระธาตุได้กินกันก่อนทำงาน ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดก็เกิดขึ้นแก่แม่ครัวได้อัศจรรย์กันไปตาม ๆ กัน เพราะบรรดาไหปลาร้าที่ว่างเปล่าเมื่อเย็นวานนี้ กลับมีปลาร้าเต็มไหหมด สร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ทุกคนที่พบเห็นเป็นอย่างมาก จึงได้บอกต่อ ๆ กันไปให้มาดูความแปลกมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อทุกคนมาเห็นเข้ากับตาต่างก็พากันงึด (อัศจรรย์) เป็นที่สุด พอสว่างได้เวลาที่พระจะออกบิณฑบาต ต่างก็พากันไปกราบนมัสการให้หลวงปู่ทราบว่า ที่พวกเขาตกใจว่ากลัวจะไม่มีปลาร้ากินในวันนั้นปลาร้าได้มีอยู่เต็มไปหมดทุกไหแล้ว และต่างก็สอบถามหลวงปู่ว่าปลาร้ามีมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ให้มา ทำไมจึงมีมาได้ หลวงปู่ท่านไม่ตอบเช่นเคย ท่านหยิบเอาบาตรได้แล้วก็จะออกไปบิณฑบาตตามที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่วางหน้าเฉย ๆ และท่านได้เปรยขึ้นว่า “เออ...มีก็ดีเล้ว จะได้กินกันอีก ทำงานกันต่อไปเถอะ”


ในประวัติของเมืองท่าอุเทนได้มีผู้บันทึกถึงเรื่องหลวงปู่ว่าหลวงปู่ท่านข้ามโขง (แม่น้ำโขง) โดยไม่ต้องใช้เรือ เหตุนี้เกิดขึ้นที่อำเภอบ้านแพง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงตำบลหนึ่งเท่านั้น จากปากคำของคนที่เชื่อถือได้ กล่าวกันว่าผู้เปิดเผยเรื่องอภินิหารของหลวงปู่ คือ อดีตครูใหญ่ตำบลหนึ่ง ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งให้ไปเป็นครูผู้ใหญ่ในตำบลที่มีผีปอบมาก ๆ เพื่อให้ไปปราบผีและได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง บรรดาผีที่เข้าสิงคนอยู่นั้น ถ้าได้เห็นครูคนนี้ขึ้นไปบนบ้านเท่านั้น ก็ร้องเสียงหลงทันที “ออกแล้ว ยอมแล้ว” ในปัจจุบันท่านผู้นี้อายุ ๘๓ ปี คือ อาจารย์ทอน กิตติศรีวรพันธุ์ แห่งบ้านเนินคนึง อำเภอบ้านแพง ในปัจจุบัน


อาจารย์ทอนได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ในสมัยนั้นเขาได้พบกับสามเณรตัวเล็ก ๆ องค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้ติดตาม หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาลำเนาไพรในระยะใกล้ ๆ เณรน้อยองค์นั้นก็ติดตามไปเพื่อปรนนิบัติท่าน เพื่อเป็นการเริ่มฝึกหัดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน สามเณรองค์นี้ได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ก่อนที่จะมรณภาพ ก็ได้เล่าเรื่องหลวงปู่ให้ฟังว่า “วันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว หลวงปู่จะพาข้ามไปฝั่งลาวเพื่อไปแสวงหาพระอาจารย์ดังทางฝั่งโน้น หลวงปู่ท่านได้พาเดินเลาะท่าเรือที่จะข้ามไปแต่ก็ไม่มีสักลำ ท่านพาเดินจนเหนื่อยจึงได้พบเรือแต่ไม่มีคนพายข้ามไป เณรน้อยจึงบอกกับหลวงปู่ว่า “ขอพักก่อนเถอะ เพราะเดินเหนื่อยแล้ว ผมเบื่อและเมื่อยเต็มที” หลวงปู่ท่านกล่าวกับเณรน้อยว่า “เฉย ๆ ไว้ ต้องไปให้ได้หลวงปู่จะพาไปเอง” จากนั้นท่านก็สั่งให้กลับหลังหัน แล้วให้ยืนนิ่ง ๆ พร้อมกับให้หลับตาให้สนิทจริง ๆ ขณะที่สั่งหลวงปู่ท่านอยู่ด้านหลัง และอยู่ห่างกันประมาณวาเศษ ๆ พอหลวงปู่ท่านสั่งแล้วเณรน้อยก็หลับตาตามที่ท่านสั่ง เณรก็คิดอยู่ในใจว่าหลวงปู่ท่านจะพาเราไปอย่างไรกันหนอพร้อมกับระลึกและจดจ่ออยู่ว่าเมื่อไรหลวงปู่ท่านจะให้ลืมตาสักที เมื่อหลับตาแล้วก็มืดมิดมองไม่เห็นอะไร


ทันใดนั้นเองหลวงปู่ก็พูดเป็นเสียงธรรมดาว่า “เอ้าถึงแล้ว ลืมตาได้” สามเณรน้อยลืมตาขึ้น และได้เห็นตัวเองกับหลวงปู่มายืนอยู่ที่ฝั่งประเทศลาวเสียแล้ว เมื่อมองดูที่ริมน้ำก็ไม่เห็นมีเรือเลย ปาฏิหาริย์แท้ ๆ ด้วย ความแปลกประหลาดและพิศวง ทำให้เณรน้อยผู้คอยอุปัฏฐากท่านอดรนทนไม่ไหว ใคร่อยากจะรู้ว่า หลวงปู่ท่านทำอย่างไรนะ ถึงได้ข้ามแม่น้ำโขงมาได้ จึงได้เอ่ยถามขึ้นว่า “หลวงปู่ครับ เราข้ามมาได้อย่างไร ใครดลบันดาลให้” แทนที่หลวงปู่ท่านจะตอบถึงสาเหตุที่สามารถข้ามแม่น้ำโขงมาได้ ท่านกลับตอบเป็นเชิงดุ ๆ ว่า “ไม่ใช่เรื่อง เอาล่ะ ไปกันได้แล้ว” ทำให้เณรน้อยยิ่งงงใหญ่ พลางก็เดินตามหลังหลวงปู่ท่านไป


จากปากคำบอกเล่าในบันทึกของอดีตนายอำเภอซึ่งได้รับคำไขขานบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองท่าอุเทนเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ท่านหายตัวได้และย่อแผ่นดินจากกว้างให้แคบได้ เช่นเมืองท่าอุเทนอยู่ฝั่งไทย เมืองปากหินปูนอยู่ฝั่งลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นกลางอยู่ แต่หลวงปู่ท่านก็มีความสามารถเดินข้ามได้อย่างสบาย มีเรื่องเล่าว่าในสมัยนั้นฝั่งลาวกับฝั่งไทยมีความรักใคร่กันดี เมื่อมีงานบุญก็จะบอกกล่าวถึงกันเป็นประจำ แม้จะมีแม่น้ำโขงขวางกั้นอยู่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด พระเณรจะถูกนิมนต์ให้ไปร่วมทำบุญและไปกันเป็นคณะ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านก็ถูกนิมนต์ไปด้วยเสมอ เพราะชาวฝั่งเมืองหินปูนต้องการชมบารมี และจะได้เห็นหน้าเห็นตาท่านชัด ๆ สักที เมื่อญาติโยมได้นิมนต์พระสงฆ์องค์เณรเรียบร้อยแล้วก็ได้พากันไปนิมนต์หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังสั่งและควบคุมพวกช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนอยู่โดยขอนิมนต์ให้ท่านไปพร้อม ๆ กันหลาย ๆ รูปและหลายลำเรือและกล่าวกับท่านว่า “ชาวเมืองปากหินปูนกำลังรออยู่ ขอให้หลวงปู่ลงเรือไปด้วยกันให้จงได้ เพราะที่เรือได้เตรียมปูเสื่อน้อยให้สำหรับหลวงปู่อยู่แล้ว เพื่อจะได้ไปทันเจริญพระพุทธมนต์ก่อนเพลในโบสถ์ วัดปากหินปูน เสร็จแล้วก็จะได้ให้หลวงปู่ร่วมฉันเพลกับพระรูปอื่น ๆ ด้วย” หลวงปู่ท่านกล่าวกับญาติโยมว่า “ไปก่อนเถอะ จะสั่งเสียมอบหมายการงานให้ช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนเรียบร้อยแล้ว จะรีบตามไปให้ทันทีหลัง พวกญาติโยมก็พากันคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง หลวงปู่จึงหันหน้ามาบอกว่า “ไปเถอะ ไปก่อนเถอะ จะตามไปให้ทันทีหลัง ไม่ต้องห่วง” 


จากนั้นญาติโยมก็พากันลงเรือข้ามไปปากหินปูน พอไปถึงฝั่งปากหินไน ที่วัดกำลังมีงานผู้คนก็มาก ญาติโยมได้พาพระเณรจากฝั่งไทยเข้าโบสถ์ แต่เมื่อทุกคนมองเข้าไปในโบสถ์ ก็เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งเพราะพระเณรของเมืองปากหินปูน ต่างก็นั่งห้อมล้อมหลวงปู่สีทัตถ์อยู่อย่างเนืองแน่น สร้างความประหลาดใจไปตาม ๆ กัน เพราะเรือที่ตามมาติด ๆ กันมิได้เห็นมีสักลำ จะเข้าไปถามดูว่าท่านมาได้อย่างไรก็ไม่มีโอกาส เพราะมีพระอยู่มาก และกำลังประกอบกิจทางศาสนาอยู่ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ตอนบ่าย ๆ ญาติโยมก็พากันเดินทางกลับมายังเมืองท่าอุเทน ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กลับมาด้วย พอมาถึงวัด ญาติโยมที่ฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างมาก เพื่อให้หายสงสัยจึงไปกราบนมัสการถามหลวงปู่ว่า “หลวงปู่ไปถึงวัคปากหินปูนก่อนได้อย่างไร” ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ตอบไปโดยเลี่ยง ๆ ว่า“ก็ตามกันไปนั่นแหละ ไม่เห็นหรือ ?” จากนั้นหลวงปู่ท่านก็พูดคุยไปในเรื่องอื่น ๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุว่า “งานของเรายังมีอีกมาก ช่วยกันเข้าจะได้เสร็จ ๆ ไป”


ต่อมาภายหลังเมื่อเสร็จจากการก่อสร้างพระธาตุบัวบกแล้ว ท่านก็ข้ามฝั่งโขงไปถึงธุดงคกรรมฐานอยู่ในป่าประเทศลาว หลังจากนั้นก็ได้มาสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ที่บ้านโพนสัน ซึ่งการก่อสร้างก็สำเร็จไปด้วยดี หลวงปู่ท่านได้อยู่ที่วัดบ้านโพนสันอีก ๖ ปี ก็มรณภาพ ณ ที่วัดแห่งนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓สิริอายุได้ ๗๕ ปีพอดี ก่อนมรณภาพ หลวงปู่ท่านสั่งเอาไว้ว่า “เมื่อเผาศพเสร็จแล้วให้เอากระดูกของท่านไปทิ้งลงในแม่น้ำโขงให้หมด ” ตังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีศพของท่านแล้ว บรรดาศิษย์ทั้งหลายจึงนำอัฐิของท่านทิ้งลงในแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น 


ในชีวิตของหลวงปู่สีทัตถ์พระผู้ใฝ่ในธรรมแห่งเมืองท่าอุเทน ท่านได้ออกเดินธุดงค์จงกรมไปหาความจริงถึงประเทศพม่า ลาว และทั่วภาคเหนือ-อีสาน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขาลำเนาไพร อันเป็นสถานที่ยินดี เหมาะที่จะบำเพ็ญพลังจิต โดยมิได้ย่อท้อต่อภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศแต่อย่างใด จิตใจของท่านจึงมั่นคง ไม่หวั่นไหว มุ่งแต่จะแสวงหาความจริงอันเป็นความจริง ดังคำสอนของพระพุทธรูปองค์ ท่านจึงเป็นพระอริยสงฆ์ที่ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่งองค์หนึ่ง

___________________________________________

กราบขอบพระคุณที่มาเรื่องราวดีๆจาก



เรียบเรียงข้อมูลรูปภาพโดยไทท่าอุเทน

__________________________________________