วันที่ 22 ก.ย. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม พล.ต.ดร.อรรถ สิงหัษฐิต ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีเทศกาลกินตัวหัวเสือ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวของ จ.นครพนม ที่มีอาชีพสุดแปลก เสี่ยงตาย คือ เลี้ยงต่อหัวเสือสร้างรายได้ มีการสืบทอดเลี้ยงตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มานานกว่า 50 ปี ส่งผลให้ทุกปี จะมีการร่วมกันจัดงานเทศกาลกินต่อหัวเสือขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
รวมถึงเป็นการสนับสนุนอาชีพให้ชาวบ้าน หันมาเลี้ยงต่อหัวเสือ สร้างรายได้ เนื่องจากปัจจุบัน ต่อหัวเสือ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยเป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาแพง ตกรังละ 1,500 – 2,000 บาท สร้างรายได้ ปีละหลายแสนบาท
สำหรับในงานมีการสาธิตวิธีการเลี้ยงต่อหัวเสือ ไปจนถึงการปรุงสารพัดเมนูต่อหัวเสือ ให้ประชาชนนักท่องเที่ยว ได้ชิมรสชาติจากเมนูต่อหัวเสือ ที่หากินยาก อาทิ ก้อยต่อ คั่วต่อ ทอดต่อ เจียวไข่ใส่ต่อ เมี่ยงต่อ ตำต่อหัวเสือ ต้มยำต่อหัวเสือ แกงต่อหัวเสือ นึ่งต่อ ซึ่งสามารถนำมาประกอบได้สารพัดเมนู
ทางด้าน นายสง่า แสงแก้ว อายุ 37 ปี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม เผยว่า ทุกปีชาวบ้านแห่งนี้จะมีการเริ่มทำอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ประมาณ พ.ค.- ธ.ค. ของทุกปี ถือเป็นฤกษ์ดีของชาวบ้าน ที่เริ่มออกล่าหารังต่อหัวเสือตามที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ด้วยวิธีการตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจะออกไปหารังต่อในป่าธรรมชาติ ก่อนย้ายรังต่อหัวเสือ มาเก็บรักษาเลี้ยงไว้ตามพื้นที่ว่างหลังบ้าน และตามไร่นา เพื่อให้รังต่อหัวเสือมีความเจริญเติบโตเต็มที่ ตามธรรมชาติ
ขณะที่เวลาในการเลี้ยง ประมาณ 4-5 เดือน จนกระทั่งรังต่อหัวเสือโตเต็มที่ พอจะนำออกไปขาย มีลูกค้าที่ชอบรับประทาน รวมถึงพ่อค้า แม่ค้าตามตลาดทั่วไปมาติดต่อซื้อในราคารังละประมาณ 500 - 1,000 บาท เพราะลูกต่อ ถือเป็นอาหารที่หากินยาก คนอีสานนิยมรับประทาน และจะขายได้ตลอด รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว มาศึกษาเยี่ยมชมให้เป็นที่แพร่หลาย และเป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพคนเลี้ยงต่อ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอีกทาง ทุกปีชาวบ้านจะมีรายได้จากการเลี้ยงต่อครอบครัวละหลายหมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการคิดค้นไม่ให้ต่อสูญพันธุ์ สามารถได้ผลผลิตลูกต่อหัวเสือได้มากขึ้น มีผลผลิตขายตลอดปี จึงหันมาใช้วิธีสวมชุดคลุมที่ปลอดภัย เข้าไปล้วงรังต่อ แทนการรมควัน เพราะลดการตายของแม่ต่อหัวเสือและยังส่งผลดีให้รังต่อ รังเดียว สามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง เพราะแม่ต่อหัวเสือจะสามารถสร้างรังใหม่ทดแทนรังเดิม ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยง ให้สามารถมีผลผลิตไว้ขายได้ตลอดปี เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำการเกษตร เพราะปัจจุบันต่อหัวเสือมีราคาแพงมาก.
ขอบพระคุณที่มาจาก ไทยรัฐ