Ads 468x60px

ท่าอุเทนเมืองธรรมมะ พระธาตุสูงงาม แม่น้ำสองสี ไดโนเสาร์ล้านปี ประเพณีไทญ้อ

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

พญาศรีสัตตนาคราช ที่มาแห่งแลนด์มาร์คนครพนม


พญาศรีสัตตนาคราชเป็นหนึ่งในพญานาคผู้มีฤทธิ์ ทรงศักดาอานุภาพ นามของพญาศรีสัตตนาคราช นี้ก็ปรากฏพบในตำนานอุรังคธาตุเช่นกันความดังนี้ว่า


พระศาสดา ก็เสด็จไปสู้ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์แต่ก่อน มีนาคตัวหนึ่ง 7 หัว ชื่อว่าศรีสัตตนาค เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอยก้ำขวาแล้วทรงแย้มพระโอฐ เจ้าอานนท์กราบทูลถาม ตถาคตตรัสว่า เราเห็นนาค 7 หัวเป็นนิมิต ต่อไปภายหน้าที่นี้จักบังเกิดเป็นเมือง มีชื่อว่าเมืองศรีสัตตนาค


เผ่าพันธุ์ของพญามุจลินท์นาคราช คือ พญานาค 7 เศียร ได้สืบสายพันธุ์มาจนถึง พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) เชื่อกันว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว ส่วนฝั่งไทยนั้นมี พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็น กษัตริย์พญานาคฝั่งไทย แต่เป็นพญานาคเศียรเดียว ซึ่งเล่ากันว่า สองราชาพญานาคคู่นี้เป็นสหายรักกันมาก


โดยมีเรื่องของราชาแห่งนาคทั้งสองตนนี้ โดยทางด้านหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย ได้เล่าเอาไว้ดังต่อไปนี้

ในผืนน้ำของประเทศไทยเรา มีพญานาคราชเป็นใหญ่นามกรว่า พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) ชอบการจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม นิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ เข้าข่ายเป็นพญานาคผู้น่านับถือเป็นอย่างยิ่ง


ส่วนฝั่งลาวนั้น มี พญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวง ที่ทรงฤทธิ์มีอำนาจเหนือกว่าพญานาคทั้งหลายในสองแผ่นดินไทย-ลาว ถึงท่านเป็นพญานาคที่มีฤทธิ์เดช แต่ก็ชอบการจำศีลภาวนา และประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนกันกับทางด้านพญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ)


มีตำนานกล่าวว่าพญาศรีสัตตนาคราช ท่านชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน จนขนาดมีการตกลงกันว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการความช่วยเหลือ ก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้อยใหญ่เรื่องใดก็ตาม


ขณะที่ทางด้าน พญาศรีสัตตนาคราช มีความเด่นสง่าเหนือกว่าใครเพราะมี 7 เศียร ลำตัวเดียว ถือได้ว่าเป็นตระกูลพญานาคที่สืบสายพันธุ์มาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนา จนอาจถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่งพญานาคทั้งหลายทั้งปวง


หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย ยังได้บอกเล่าต่อว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมีพิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทั้งสองฝั่งลำน้ำโขงนั้นให้การเคารพศรัทธา องค์พญานาค เป็นอย่างยิ่ง


ปัจจุบันนี้ จังหวัดนครพนม จึงออกแบบและก่อสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราช เพื่อเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างสัญลักษณ์เมืองขึ้น และได้ทำการประกอบพิธีอัญเชิญองค์พญาศรีสัตตนาคราชขึ้นประดิษฐาน ท่ามกลางประชาชนชาวไทยและลาว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จ.นครพนม และพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมาร่วมในพิธี


โดยทางจังหวัดได้ทำพิธีสมโภชใหญ่ พุทธาภิเษก รวม 9 วัน 9 คืนระหว่างวันที่ วันที่ 9 – 18 กันยายน 2560 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับ องค์พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.นครพนม


อย่างที่ทราบกันว่าพี่น้องชาวไทยและชาวลาว ล้วนมีความเชื่อผูกพันอยู่กับองค์พญานาค พอๆ กับความผูกพันในลำน้ำโขง รุ่นปู่ย่าล้วนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง รักษาพุทธศาสนา รวมถึงองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นองค์พญานาคทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน


แน่นอนว่าจากประติมากรรมที่สูงค่าผนวกกับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ย่อมส่งผลให้จังหวัดนครพนม ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างไม่อาจปฏิเสธ


ณ บริเวณที่ประดิษฐานองค์พญานาค ลานศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าสำนักงานป่าไม้ ถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม องค์พญาศรีสัตตนาคราช หล่อด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักรวม 9,000 กก. เป็นรูปพญานาคขดหาง 7 เศียร ประดิษฐานบนแท่นฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 6 เมตร ความสูงทั้งหมดรวมฐาน 15 เมตร สามารถพ่นน้ำได้


วัตถุประสงค์การก่อสร้างครั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อต่อเรื่องพญานาคของชาวไทย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่อีกจุดหนึ่งของภูมิภาคนี้

ขอบพระคุณข้อมูลจาก Tnew
ขอบคุณรูปภาพประกอบทุกๆที่มา