Ads 468x60px

ท่าอุเทนเมืองธรรมมะ พระธาตุสูงงาม แม่น้ำสองสี ไดโนเสาร์ล้านปี ประเพณีไทญ้อ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วัดพระธาตุท่าอุเทน (Phatat-tha-uthen)


พระธาตุท่าอุเทน
ตั้งอยู่ภายในวัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ใกล้กับที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน ประวัติเท่าที่มีจารึกไว้ที่กำแพงพระธาตุ (ตัวอักษรไทยน้อย) ซึ่งกล่าวว่าท่านอาจารย์สีทัตถ์ ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันก่อสร้าง ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๖ ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๙


พระธาตุท่าอุเทนมีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนอยู่ในผังสี่เหลี่ยม  กล่าวกันว่าจำลองแบบมาจากพระธาตุพนม แต่มีสัดส่วนขององค์ธาตุที่เล็กกว่า และมีความสูงกว่าพระธาตุพนม บริเวณฐานและชั้นเรือนธาตุมีลายปูนปั้นงดงาม ภายในองค์พระธาตุก่อ ๓ ชั้น ชั้นแรกอยู่ด้านในสุดก่อเป็นอุโมงค์เพื่อบรรจุสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ ๒ ก่อครอบอุโมงค์ สูงประมาณ ๕ วา ชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดก่อเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ สูง ๓๓ วา


เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่วนซุ้มประตูชั้นล่างขององค์พระธาตุด้านทิศใต้ได้พังทลายลง กรมศิลปากรจึงได้ทำการบูรณะจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ พร้อมทั้งได้ทำการเสริมคานคอนกรีตภายในเพื่อป้องกันองค์พระธาตุพังทลาย วัดพระธาตุท่าอุเทน ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๔ง หน้า ๒ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๘๙.๔๘ ตารางวา


พระอาจารย์ศรีทัตถ์ เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2454 พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง 


จะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ และเชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม คือพระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ


ช่างแกะสลักลวดลาย ซึ่งมีฝีมือดีที่มาปวารณาตัวแกะสลักเพื่อการกุศล มี ๕ ท่าน คือ

๑. พระอาจารย์มหาเสนา ชาวอำเภอท่าอุเทน
๒. พระอาจารย์ผง ชาวอำเภอท่าอุเทน
๓. พระอาจารย์จันทร์ ชาวอำเภอท่าอุเทน
๔. พระอาจารย์คำพันธ์ ชาว อ. โพนพิสัย จ.หนองคาย
๕. พระอาจารย์ยอดแก้ว ชาว อ. คำชะอี จ.นครพนม (ขณะนั้น)


ของมีค่าซึ่งบรรจุในพระธาตุ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง นอ งา พระพุทธรูป ฯลฯ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา นำมาบรรจุไว้ คิดเป็นเงินประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท) เฉพาะนายเซ่า แซ่คู พ่อค้าใหญ่ จังหวัดหนองคายคนเดียว ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท)


จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการนำของ ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำในการบูรณะ นายฐิติ บุรกรรมโกวิท รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วน ช. ประชุมพันธุ์ ทำการบูรณะตั่งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงแล้วเสร็จ


คำนมัสการพระธาตุท่าอุเทน

ปุริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

ทักขิณายะ ทิสายะ นทีทิเร อุเทนรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

ปัจฉิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

อุตตรายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

เหฏฐิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

อุปริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนรัฏฐัสมิง อายัสมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตฺัง พุทธสารีริกธาตุง สิรสา นมามิ.

______________________________________

ขอบพระคุณที่มาจากหลากหลายที่มาครับ




เรียบเรียงข้อมูลใหม่โดยไทท่าอุเทน

______________________________________