Ads 468x60px

ท่าอุเทนเมืองธรรมมะ พระธาตุสูงงาม แม่น้ำสองสี ไดโนเสาร์ล้านปี ประเพณีไทญ้อ

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดพุทธนิมิต งดงามเกินคำบรรยาย


 “วัดพุทธนิมิต” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านตาลหนองเทา ต.หนองเทา อ.ท่าอุเทน โดยมี พระอธิการสุพิช รตนโชโต อายุ 45 ปี พระเจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองเทา อ.ท่าอุเทน มีแนวคิดแปลกบวกกับความชอบด้านศิลปะ เป็นการส่วนตัว ก่อนนำมาออกแบบก่อสร้างอุโบสถของวัดเพื่อใช้ในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เพียรพยายามสร้างอุโบสถ นานร่วม 10 ปี มูลค่าเกือบ 30 ล้าน ออกแบบลวดลายด้วยศิลปะ เชียงทอง ผสมผสานล้านนา หลวงพระบาง หาดูยาก ตั้งเป้าสร้างความแตกต่าง เป็นจุดสนใจ สร้างกุศโลบายปริศนาธรรม ดึงคนเข้าวัดทำบุญ ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงธรรมะ


โดยมีการออกแบบประดับตกแต่งด้วยศิลปะแตกต่างจากวัดทั่วไป และหาดูได้ยาก คือ ออกแบบสร้างด้วย ศิลปะเชียงทอง ผสมผสานกับศิลปะล้านนา ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นแถบเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ทำให้มีรูปแบบลวดลายวิจิตรสวยงาม อลังการ ละเอียดอ่อน เกือบทั้งหมดจะเป็นการปั้นปูน ภาพนูนต่ำเป็นหลัก ทำให้ลวดลายออกมาสวยงาม สร้างความสนใจให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยวที่พบเห็นเป็นอย่างมาก


ท่านพระเจ้าอาวาสตั้งเป้าจะสร้างความตื่นตาเป็นกุศโลบาย ดึงดูดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าวัดฟังธรรม เป็นปริศนาธรรมสั่งสอนไปในตัว รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมะอีกด้วย


นอกจากนี้ ด้านหลังของวัดยังมีการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หลวงพ่อใหญ่ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวไทยและชาวลาว
 

พระอธิการ สุพิช รตนโชโต พระเจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต และมีตำแหน่งเป็นพระเจ้าคณะตำบลหนองเทา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม กล่าวถึงที่มาของการสร้างอุโบสถหลังนี้ว่า เดิมบ้านเป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ บวชมาแล้วเป็นเวลา 23 พรรษา อดีตได้เดินธุดงค์ไปหลายจังหวัดมาจนกระทั่งพบสำนักสงฆ์แห่งนี้ที่มีความร่มเย็น ติดกับน้ำโขง จึงได้พัฒนาบุกเบิกจนขึ้นทะเบียนเป็นวัดมาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้ชาวบ้านมีจิตศรัทธา ร่วมพัฒนาก่อสร้างวัดต่อเนื่อง


จนกระทั่งปี 2547 ได้มีการออกแบบสร้างอุโบสถเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจสงฆ์ ภายใต้แรงศรัทธาของชาวบ้าน และผู้จิตศรัทธา รวมระยะเวลากว่า 9 ปี แล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2557 อุโบสถแห่งนี้มีเป้าหมายหลักต้องการใช้เป็นที่ปฏิบัติพิธีทางศาสนา เน้นในเรื่องความแตกต่างโดดเด่นจากวัดทั่วไป เนื่องจากมีความชอบศิลปะเป็นส่วนตัวจึงได้นำเอาศิลปะเชียงทองผสมล้านช้างมาผสมผสานงาน


ประติมากรรม ส่วนใหญ่จะพบเห็นตามวัดแถบเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ถือว่าหาดูได้ยาก โดยได้ออกแบบร่วมกับช่างศิลป์ที่รู้จักกัน ใช้งบก่อสร้างเป็นเงินร่วม 28 ล้านบาท เป็นปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งหมด


พระอธิการสุพิช เล่าอีกว่า อุโบสถแห่งนี้จะมีจุดเด่นตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างฐานด้วยหินแม่น้ำโขง หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้แท้ ส่วนลวดลายฝาผนัง หน้าจั่วภายนอกจะเป็นการปั้นปูน ประดับตกแต่งด้วยกระจกเงา ลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คำสั่งสอน สร้างความสวยงามวิจิตรตระการตามากขึ้น


บันไดทางขึ้นจะมีการปั้นรูปพญานาคเน้นลวดลายสีสันความสวยงามเป็นหลัก 


รวมถึงพญานาคแบบครึ่งคน ที่เป็นองค์นาคี-นาคา สื่อถึงตำนานพญานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ที่สามารถแปลงร่างเป็นคนได้


ไปจนถึงสิงห์ทิพย์ที่ออกแบบลวดลายผสมผสานกึ่งสัตว์ในวรรณคดีให้มีรูปแบบลวดลายที่สวยงามโดดเด่น


ส่วนรอบหลังคาจะประดับด้วยสัตว์ประจำปีเกิด 12 นักษัตร ส่วนภายในจะเขียนด้วยสีน้ำ เป็นพุทธประวัติ และประเพณีอีสาน ฮีต 12 ครอง 14 และภายในจะมีพระพุทธรูป พระชินราช ประดิษฐานไว้ ถือว่าเป็นศิลปะการก่อสร้างที่สวยงามหาดูได้ยาก


“อยากสร้างจุดเด่นให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ลูกหลานเยาวชนได้สนใจเข้ามาวัด ได้มาเยี่ยมชมและได้รำลึกถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า และความสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นการขัดเกลาจิตใจของคนไปด้วย อย่างน้อยเมื่อเข้าวัดจะได้ความสงบ ร่มเย็น เนื่องจากปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปทำให้คนไม่ค่อยเข้าวัดฟังธรรม จึงต้องใช้กุศโลบายเข้ามาช่วย”